ริชาร์ด ธาเลอร์

นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลมั่นใจเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่ถดถอย

นายริชาร์ด ธาเลอร์ นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลเปิดเผยกับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีว่า แม้เศรษฐกิจสหรัฐหดตัวลงติดต่อกัน 2 ไตรมาส แต่เป็นเรื่องไม่ถูกต้องนักหากจะสรุปว่า เศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย

ริชาร์ด ธาเลอร์

“ผมยังไม่เห็นหลักฐานใด ๆ ที่จะสรุปว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย เรามีอัตราว่างงานที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ ขณะที่มีตำแหน่งงานว่างสูงเป็นประวัติการณ์ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจของเรายังคงแข็งแกร่ง”

“เศรษฐกิจสหรัฐกำลังขยายตัว แม้จะเป็นการขยายตัวรวดเร็วน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อก็ตาม และนั่นหมายความว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่แท้จริงชะลอตัวลงเพียงเล็กน้อย และผมมองว่าเป็นเรื่องน่าขัน หากจะสรุปว่านั่นเป็นภาวะถดถอย เพราะจากประสบการณ์ตลอดชีวิตการเป็นนักเศรษฐศาสตร์ของผม เศรษฐกิจในลักษณะเช่นนี้ไม่เรียกว่าถดถอย” นายธาเลอร์กล่าว

การแสดงความเห็นของนายธาเลอร์มีขึ้น หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยวานนี้ว่า GDP ไตรมาส 2 หดตัวลง 0.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากหดตัว 1.6% ในไตรมาส 1 ซึ่งที่ผ่านมานั้น ตัวเลข GDP ที่หดตัวลงติดต่อกัน 2 ไตรมาสจะถูกนิยามว่า เศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย

โดยปกติแล้ว สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐ (NBER) เป็นหน่วยงานที่จะประกาศอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการขยายตัวหรือการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐ แต่มีแนวโน้มว่า NBER จะไม่ตัดสินชี้ชัดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเป็นเวลาหลายเดือน

นายธาเลอร์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 2560 และเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ เขายังเคยร่วมฉากกับดาราสาวชื่อดัง เซเลนา โกเมซ ในภาพยนตร์เรื่อง “The Big Short” ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องราวของบรรดานักการเงินมืออาชีพในยุคที่สหรัฐเผชิญวิกฤตซับไพรม์ หรือการปล่อยเงินกู้ให้กับผู้ที่มีความสามารถชำระหนี้เงินกู้คืนต่ำกว่ามาตรฐาน

อัพเดทข่าวเศรษฐศาสตร์ แนะนำข่าวเพิ่มเติม >> น้ำมันร่วง $3 ทองต่ำสุดรอบ 2 ปี หุ้นสหรัฐฯ

ข่าวเศรษฐศาสตร์

น้ำมันร่วง $3 ทองต่ำสุดรอบ 2 ปี หุ้นสหรัฐฯ

น้ำมันร่วง $3 ทองต่ำสุดรอบ 2 ปี หุ้นสหรัฐฯ ลงกังวลเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเชิงรุก

 

ข่าวเศรษฐศาสตร์

 

ราคาน้ำมันร่วงลง 3% ในวันพฤหัสบดี (15 ก.ย.) แตะระดับต่ำสุดในรอบสัปดาห์ ท่ามกลางความคาดหมายอุปทานโลกอ่อนแอและดอลลาร์แข็งค่า ปัจจัยหลังนี้ฉุดทองคำขยับลงต่อเนื่อง ขณะที่วอลล์สตรีทปิดลบ หลังชุดช้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดยังคงสนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยเชิงรุก

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนตุลาคม ลดลง 3.38 ดอลลาร์ ปิดที่ 85.10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ต่ำที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน ด้านเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนพฤศจิกายน ลดลง 3.26 ดอลลาร์ ปิดที่ 90.84 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ความเสี่ยงแง่ลบยังคงปกคลุมแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางความคาดหมายว่าบางประเทศจะดิ่งสู่ภาวะถดถอยในปี 2023 อย่างไรก็ตาม มันเร็วเกินไปที่่จะชี้ชัดว่าทั่วโลกจะเกิดภาวะถดถอยในวงกว้างหรือไม่ จากความเห็นของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

อินเดอร์มิต จิลล์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก แสดงความกังวลเกี่ยวกับภาวะ stagflation โดยทั่วไป (ภาวะที่เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัว แต่อัตราเงินเฟ้อกลับเพิ่มสูงขึ้น) ในเศรษฐกิจโลก เน้นย้ำสิ่งที่ธนาคารแห่งนี้เคยคาดการณ์ว่าอาจเกิดขึ้นกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกถึงเกือบๆ 3 ใน 4 เลยทีเดียว

นอกจากนี้ ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นยังกัดเซาะอุปทานน้ำมัน เนื่องจากมันทำให้เชื้อเพลิงมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ซื้อที่ถือเงินสกุลอื่นๆ และปัจจัยนี้เองที่ฉุดใหราคาทองคำแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปีในวันพฤหัสบดี (15 ก.ย.) โดยราคาทองคำโคเม็กซ์งวดส่งมอบเดือนธันวาคม ลดลง 31.80 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,677.30 ดอลลาร์ต่อออนซ์